เกี่ยวกับเรา
BAM ประกอบธุรกิจด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยมีส่วนช่วยเหลือลูกหนี้และแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เพิ่มเติม
ทรัพย์
อื่นๆ
ติดต่อเรา
0-2630-0700
0-2266-3377
99 ถนนสุรศักดิ์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนธันวาคม 2566)
ข้อมูลเดือนตุลาคม 2566 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันยังมีราคาปรับตัวลดลง รวมทั้งราคาสินค้าจำพวกอาหารสดราคาค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่น้อยลงจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะการค้าโลกค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเร่งการผลิตไปมากแล้ว จึงทำให้ในเดือนนี้การผลิตสินค้ามีการหดตัวลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวน้อยลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ จึงยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก ทั้งนี้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ เริ่มมีผลตอบแทนที่ทรงตัว จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมาเล็กน้อย ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากธนาคารเริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาบ้าง ทำให้ในเดือนนี้จึงมีการขยายตัวขึ้น แต่ยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน
เดือน / รายละเอียด |
กรกฎาคม 66 |
สิงหาคม 66 |
กันยายน 66 |
ตุลาคม 66 |
ดัชนีราคาผู้บริโภค |
107.82 |
108.41 |
108.02 |
107.72 |
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม |
91.26 |
91.94 |
91.97 |
90.22 |
อัตราการใช้กำลังการผลิต |
58.09 |
57.91 |
58.05 |
56.83 |
ดุลการค้า |
355.18 |
1,224.57 |
3,813.09 |
1,264.80 |
ดุลบัญชีเดินสะพัด |
-508.02 |
401.21 |
3,406.05 |
664.61 |
เงินฝาก |
16,978.65 |
16,964.43 |
17,068.47 |
n.a. |
เงินให้สินเชื่อ |
18,317.50 |
18,278.05 |
18,331.12 |
n.a. |
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
สถานการณ์การขายที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ปี 2564-2566 สินค้าที่เพิ่มมากได้แก่ บ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการเพิ่มปริมาณสินค้าออกสู่ตลาดก็ต้องพยายามทำตลาดให้ขายได้โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่มีสัดส่วนสินค้าที่ขายได้ต่อสินค้าใหม่มีระดับสูงถึง 46% อาจจะไม่ได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ที่สูงถึง 61% ในปี 2555 แต่ก็สูงสุดในรอบเกือบๆ 10 ปี ขณะที่สัดส่วนขายได้โดยรวมของตลาดคอนโดมิเนียมโดยรวมมีเพียง 37% แสดงให้เห็นว่าปริมาณสินค้าใหม่ในปี 2565 เกินความพอดีสินค้าทุกประเภท ยกเว้นบ้านแฝดมีปริมาณสินค้าใหม่โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์จากปี 2565 แสดงว่ากำลังซื้อที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอกับการดูดซับปริมาณสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนสินค้าใหม่ที่ขายได้ต่อสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นลดลงชัดเจน แต่ว่าสัดส่วนสินค้าใหม่ที่ขายได้ยังคงเท่ากับหรือสูงกว่าตลาดโดยรวมของสินค้าแต่ละประเภท ยกเว้นทาวน์เฮ้าส์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการพึงระวัง
ปัญหาสำคัญอีกอย่างในปี 2566 ก็คือ ธปท. ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา แม้จะขึ้นเพียง 2.5% น้อยกว่าของสหรัฐอเมริกาที่ปรับขึ้น 5.5% เป็นอย่างมาก แต่การที่ธนาคารขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1% ก็ทำให้สินเชื่อผ่อนชำระต่อเดือนสูงขึ้นราว 11% นี่ก็ถือว่าทำลายกำลังซื้อไปส่วนหนึ่ง ในปี 2566 คาดว่ายอดขายที่อยู่อาศัยจะที่อยู่ประมาณ 260,000 ล้านบาท ยังถือว่าผู้ประกอบการโดยรวมมีความสามารถในการรับมือกับปัจจัยลบ ทั้งกำลังการดูดซับสินค้าและกำลังซื้อที่ลดลง นัยสำคัญของสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยแสดงว่ากำลังซื้อตามไม่ทันปริมาณสินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นและคงจะกลายเป็นปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการในปี 2567 ขณะเดียวกันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2567 ที่เคยคาดว่าจะเป็น 4.5% ก็จะต่ำลง ตามปัจจัยลบของสถานการณ์โลก ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้กระทบเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่ปัจจัยลบสำคัญมาจากภายในที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐบาลขาดความต่อเนื่องทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน ปัจจัยบวกในปี 2567 อาจหวังได้จากกำลังซื้อผู้บริโภคยังดีอยู่ แต่ก็ไม่เท่าปี 2565 การลงทุนบางส่วนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี และเหนืออื่นใดโครงการประชานิยมของรัฐบาลใหม่ที่หวังว่าคงจะได้ผลดี อัตราดอกเบี้ยโดยทั่วไปน่าจะมีโอกาสลดลงได้ตามตลาดโลก อาจจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวก
ในขณะที่ EIC ประเมินในกรณีฐานที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อ เศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากเนื่องจาก
(1) ราคาน้ำมันโลกและไทยจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก
(2) อิสราเอลและไทยค้าขายระหว่างกันไม่สูงนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
(3) ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวอิสราเอลเพียง 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวปาเลสไตน์
(4) ไทยไม่ได้เป็นฐานการลงทุนของอิสราเอลและปาเลสไตน์ อย่างไรก็ดีความรุนแรงในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านตลาดแรงงานระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยอิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานสูงกว่า 25,000 คน สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน หรือราว 20% ของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามหากสงครามรุนแรงกินเวลานานและกระจายวงกว้างขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นผ่านราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ เงินเฟ้อสูงกดดันการบริโภค ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น การเติบโตของ GDP ลดลง ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าหากอิหร่านเข้าร่วมในสงครามตัวแทน (Proxy war) เศรษฐกิจไทยปี 2024 จะขยายตัวลดลง -0.28 pp อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +0.19 pp แต่หากอิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลง -0.85 pp อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +0.57 pp เทียบกับกรณีไม่มีสงครามเกิดขึ้น
กลุ่มประชาสัมพันธ์
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์