เกี่ยวกับเรา
BAM ประกอบธุรกิจด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยมีส่วนช่วยเหลือลูกหนี้และแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เพิ่มเติม
ทรัพย์
อื่นๆ
ติดต่อเรา
0-2630-0700
0-2266-3377
99 ถนนสุรศักดิ์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนกันยายน 2566)
ข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2566 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าทรงตัว เพราะราคาน้ำมันยังมีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดราคาค่อนข้างปรับตัวลดลงมา จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่คงตัวไม่แตกต่างจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะการค้าโลกยังมีแนวโน้มลดลง จึงทำให้ในเดือนนี้การผลิตสินค้ามีการหดตัวลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ จึงยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก ทั้งนี้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าลดลง เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ เริ่มมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการหดตัวลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าลดลง เนื่องจากธนาคารได้มีการทยอยปล่อยสินเชื่อออกไปบ้างแล้ว ทำให้ในเดือนนี้จึงมีการหดตัวลง รวมทั้งยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน
เดือน / รายละเอียด |
เมษายน 66 |
พฤษภาคม 66 |
มิถุนายน 66 |
กรกฎาคม 66 |
ดัชนีราคาผู้บริโภค |
107.96 |
107.19 |
107.83 |
107.82 |
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม |
82.72 |
95.39 |
93.28 |
91.57 |
อัตราการใช้กำลังการผลิต |
53.55 |
60.25 |
59.22 |
58.19 |
ดุลการค้า |
80.49 |
54.51 |
2,017.61 |
355.18 |
ดุลบัญชีเดินสะพัด |
-581.31 |
-2,766.07 |
1,448.81 |
-444.94 |
เงินฝาก |
17,201.97 |
17,169.33 |
17,051.73 |
n.a. |
เงินให้สินเชื่อ |
18,404.26 |
18,736.54 |
18,486.88 |
n.a. |
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
ที่มาของภาพ : https://www.kaohoon.com/wp-content/uploads/2018/05/อสังหาjpg
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบการเปลี่ยนแปลงในด้านอุปทาน โดยการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศ ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 มีจำนวน 18,993 หน่วย ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ที่มีจำนวน 19,217 หน่วย ในจำนวนดังกล่าวเป็นการออกใบอนุญาตจัดสรรมากที่สุดเป็นบ้านเดี่ยวจำนวน 7,157 หน่วย คิดเป็น 37.7% ลดลง 13.6% อันดับที่ 2 เป็นทาวน์เฮ้าส์ จำนวน 6,816 หน่วย หรือคิดเป็น 35.9% เพิ่มขึ้น 8.6% และอันดับ 3 เป็นประเภทบ้านแฝดจำนวน 3,659 หน่วย คิดเป็น 19.3% ลดลง 10.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจำนวน 80,643 หน่วย ลดลง 12.1% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง -23.2% ถึง -6.1% และคาดการณ์ว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 83,062 หน่วยในปี 2567 เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2566 โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง -7.3% ถึง 13.3%
ขณะที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยจากข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวนพื้นที่การ ออกใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศรวม 10,087,851 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีจำนวน 9,557,579 ตารางเมตร โดยพื้นที่ก่อสร้างแนวราบเพิ่มขึ้น 4.5% และอาคารชุดเพิ่มขึ้น 23.6% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศประมาณ 34,099,701 ตารางเมตร ลดลง 12.6% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 30,689,731 ถึง 38,191,665 ตารางเมตร หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -21.4% ถึง -2.2% โดยสามารถแยกเป็นพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างแนวราบ ทั่วประเทศประมาณ 31,585,690 ตารางเมตร ลดลง 12.5% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 28,427,121 ถึง 35,375,972 ตารางเมตร หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -21.3% ถึง -2.0% เป็นการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดทั่วประเทศประมาณ 2,514,012 ตารางเมตร ลดลง 14.3% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 2,262,610 ถึง 2,815,693 ตารางเมตร หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -22.9% ถึง -4.0% และคาดการณ์ว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 34,756,555 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.9% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง -8.3% ถึง 12.1%
ด้านสถานการณ์อุปสงค์ จากข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่ามีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจำนวน 91,085 หน่วย ลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ที่มีจำนวน 95,285 หน่วย โดยมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์จำนวน 258,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ที่มีจำนวน 256,739 ล้านบาท โดยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบลดลง 3.8% แต่อาคารชุดเพิ่มขึ้น 13.6%
เมื่อพิจารณาตามระดับราคาพบว่าที่อยู่อาศัยในระดับราคา 7.51-10.00 ล้านบาท มีหน่วยการโอน กรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นสูงสุด 16% มูลค่าเพิ่มขึ้น 17.5% และระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น 12.4% มูลค่าเพิ่มขึ้น 10.3% โดยในส่วนของที่อยู่อาศัยแนวราบการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงทุกระดับราคายกเว้นระดับราคา 7.51-10.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% และระดับราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2%
ขณะที่ในส่วนของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดภาพรวมเพิ่มขึ้นเกือบทุกระดับราคา ยกเว้นระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท ลดลง 12.1% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการลดลงในกลุ่มของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท สูงถึง -20.2% ขณะที่ห้องชุดมือสองในระดับราคาเดียวกันกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 24.1% โดยห้องชุดระดับราคาที่มีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดคือระดับราคามากกว่า 10.00 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึง 46.7% เป็นการเพิ่มขึ้นของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ 52.4% และห้องชุดมือสองในระดับราคาเดียวกัน 33.3%
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ 336,062 หน่วย ลดลง 14.5% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 302,455 ถึง 369,668 หน่วย หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -23.0% ถึง -5.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประมาณ 977,593 ล้านบาท ลดลง 8.2% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 879,833 ถึง 1,075,352 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -17.4% ถึง 1.0% โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเป็นหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 251,635 หน่วย ลดลง 11.9% โดยมีช่วงการคาดการณ์ 226,472 ถึง 276,799 หน่วย หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนระหว่าง -20.7% ถึง -3.1% และมีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 728,092 ล้านบาท ลดลง -6.2% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 655,282 ถึง 800,901 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -15.6% ถึง 3.1%
คาดการณ์ว่าจะเป็นหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดประมาณ 84,427 หน่วย ลดลง 21.2% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 75,984 ถึง 92,869 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -29.1% ถึง -13.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 และมีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยห้องชุดประมาณ 249,501 ล้านบาท ลดลง 13.5% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 224,551 ถึง 274,451 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -22.2% ถึง -4.9%
สำหรับในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ 349,910 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.1% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 314,919 ถึง 384,901 หน่วย หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -6.3% ถึง 14.5% คิดเป็นมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ 1,022,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% โดยมีช่วงการคาดการณ์ระหว่าง 920,457 ถึง 1,125,003 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน -5.8% ถึง 15.1%
วิเคราะห์แนวโน้มราคาข้าวกับปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อในระยะถัดไป
ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ EIC ได้ทำการวิเคราะห์พบว่าราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี โดย ณ วันที่ 9 ส.ค. ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทย ซึ่งถูกใช้เป็นราคาข้าวอ้างอิงในตลาดโลก ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 50.3% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2022 มาอยู่ที่ 648 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทั้งนี้มี 3 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ (1) นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก (2) ตลาดข้าวโลกเผชิญภาวะขาดดุล กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง และ (3) การกลับมาของปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตข้าวของอินเดียและไทยในฤดูกาลผลิตหน้า
ในขณะเดียวกันได้ประเมินแนวโน้มราคาข้าวโลกออกเป็น 2 กรณี ขึ้นกับความรุนแรงของเอลนีโญและ การดำเนินนโยบายส่งออกข้าวของอินเดียในระยะต่อไป ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ความรุนแรงของภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญและความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายระงับส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งจากความไม่แน่นอนดังกล่าว จึงได้ประเมินแนวโน้มราคาข้าวโลก ออกเป็น 2 กรณี คือ
1) กรณีฐาน (Base case) เกิดเอลนีโญระดับรุนแรง และอินเดียระงับการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวไปจนถึงเดือน ต.ค. 2024 แต่ยังคงอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้บางส่วน มีการส่งออกข้าวนึ่งเพื่อทดแทนข้าวขาวที่ถูกระงับส่งออกและมีการเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง
2) กรณีรุนแรง (Severe case) เกิดเอลนีโญระดับรุนแรงมาก และระยะเวลาการระงับส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวของอินเดียเท่ากับกรณีฐาน แต่รัฐบาลอินเดียไม่อนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ พร้อมทั้งมีการระงับการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่มเติม
ในกรณีฐานคาดว่าราคาข้าวโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 35%YOY ในช่วง ส.ค.-ธ.ค. 2023 และ 15%YOY ในปี 2024 ราคาข้าวโลกเฉลี่ยในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 594 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 626 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2024 เนื่องจากในกรณีฐานคาดว่าการเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงและนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้ของประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลกปรับตัวลดลง 7.3 ล้านตัน หรือคิดเป็น 13.0% ของปริมาณการค้าข้าวโลก ขณะที่ปริมาณสต็อกข้าวโลกคาดว่าจะปรับตัวลดลง 0.9%
หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น คาดว่าราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 50%YOY ในช่วง ส.ค.-ธ.ค. 2023 และ 36%YOY ในปี 2024 ในกรณีรุนแรงราคาข้าวโลกเฉลี่ยในช่วง ส.ค.-ธ.ค. 2023 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 662 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 777 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2024 ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีที่สูงกว่าปี 2008 ที่เกิดวิกฤติราคาข้าวโลก เนื่องจากในกรณีรุนแรง คาดว่าเอลนีโญระดับรุนแรงมากและนโยบายระงับการส่งออกข้าวจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้ของประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลกปรับตัวลดลงมากถึง 21.0 ล้านตัน หรือคิดเป็น 37.4% ของปริมาณการค้าข้าวโลก อีกทั้งคาดว่าปริมาณสต็อกข้าวโลกจะปรับตัวลดลงสูงถึง 9.3% ผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก
ราคาข้าวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยกรณีรุนแรงมีโอกาสแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14,663 บาทต่อตัน ราคาข้าวโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยมีการส่งออกข้าวไปตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 38.6% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด โดยในช่วง ส.ค.-ธ.ค. 2023 ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY และ 42.5%YOY ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ สำหรับในปี 2024 คาดว่าในกรณีฐานราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.9%YOY ส่วนกรณีรุนแรงราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.6%YOY มาอยู่ที่ 14,663 บาทต่อตัน ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ของไทย
โดยสรุปมองราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป ข้าวถือเป็นอาหารสำคัญของครัวเรือนไทย ดังนั้นราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป โดยประเมินราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ส.ค.-ธ.ค. 2023) 0.45% และ 0.66% ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2024 ราคาข้าวที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปของไทย 0.38% ในกรณีฐาน และอาจสูงถึง 0.91% ในกรณีรุนแรง
กลุ่มประชาสัมพันธ์
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์