หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนตุลาคม 2566)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนตุลาคม 2566)

       ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันยังมีราคาปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าจำพวกอาหารสดราคาค่อนข้างปรับตัวเพิ่มขึ้นมา จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่สุงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวมากขึ้น เนื่องจากภาวะการค้าโลกเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น จึงทำให้ในเดือนนี้การผลิตสินค้ามีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ จึงยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก ทั้งนี้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าลดลง เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ เริ่มมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการหดตัวลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าลดลง เนื่องจากธนาคารได้มีการทยอยปล่อยสินเชื่อออกไปบ้างแล้ว ทำให้ในเดือนนี้จึงมีการหดตัวลง รวมทั้งยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน/รายละเอียด

พฤษภาคม 66

มิถุนายน 66

กรกฎาคม 66

สิงหาคม 66

ดัชนีราคาผู้บริโภค

107.19

107.83

107.82

108.41

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

95.39

93.28

91.26

92.18

อัตราการใช้กำลังการผลิต

60.25

59.22

58.09

58.18

ดุลการค้า

54.51

2,017.61

355.18

1,224.57

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-3,161.64

867.56

-508.02

401.21

เงินฝาก

17,169.33

17,051.73

16,978.65

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

18,736.54

18,486.88

18,317.50

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
               อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ    ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
               ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

วิเคราะห์แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป*

ที่มาของภาพ : https://www.isranews.org/images/stories/2012/oct/vvt251055.jpg

       ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2566-2567 มีปัจจัยท้าทายจากอัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวแบบค่อนเป็นค่อยไป เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังเติบโตต่ำจากแรงกดดัน คือ ภาวะหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ย ดันค่าครองชีพสูงขึ้น ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดิน ค่าแรง ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น จึงทำให้ราคาเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคยังมีภาระและรายได้ไม่เติบโตตาม โดยปัจจัยในการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์จะพิจารณาจากราคาและทำเลเป็นหลักในขณะที่จากเดิมที่ช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 คนตัดสินใจซื้อ โดยพิจารณาจากขนาดของพื้นที่เป็นหลัก พฤติกรรมเปลี่ยนในช่วงโควิด-19 จากคนเลือกบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ เปลี่ยนมาสู่คอนโดมิเนียม เพื่อสะดวกในการเดินทางเข้าเมือง ทำงาน ติดรถไฟฟ้า แม้จะเป็นทำเลชั้นกลางเมือง หรือนอกเมืองแต่ติดรถไฟฟ้า เพราะเน้นใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ระดับราคาที่คนสนใจคือคอนโดมิเนียมตั้งแต่ 1-3 ล้านบาท

       ราคาที่คนสนใจและยังซื้อคือคอนโดมิเนียมไม่เกิน 3 ล้านบาท สะท้อนว่าอสังหาริมทรัพย์การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดูจากความต้องการในปีที่ผ่านมา คนนิยมคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น ที่ตอบโจทย์ขายได้ดี คือ 1 ล้านบาท แต่หากทำเลกรุงเทพฯ ชั้นกลางก็ราคา 2-3 ล้านบาท ความต้องการที่อยู่อาศัยในปีนี้ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ภาพรวมทำให้เติบโตประมาณ 3% คาดว่าโครงการใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา โดยอัตราการขายคอนโดมิเนียมเติบโตได้ดีกว่าแนวราบเฉลี่ยในช่วง 7-8 เดือน ที่ผ่านมาขายได้ 30% หรือสัดส่วน 1 ใน 3 ของโครงการ คาดว่าภาพรวมจะทยอยกลับมาฟื้นตัวในปี 2567 ส่วนแนวราบ ทาวน์เฮาส์ คาดว่าจะมีการจำหน่ายไม่มากนัก แต่ที่ขายดีคือ กลุ่มทาวน์เฮาส์มือ 2 เพราะราคาจับต้องได้

       ด้านหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2566 นี้ยังอยู่ภาวะทรงตัว ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด ขณะที่หากแยกเป็นคอนโดมิเนียมยังมีการขยายตัวได้ดีทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง คาดว่าจะดีขึ้นในปี 2567 ทางด้านกำลังซื้อต่างชาติ หลังจากมีมาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงกับทำให้มีการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเพิ่มขึ้น เพราะมีปัจจัยหลายด้านที่เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ ทั้งภาวะเศรษฐกิจและแรงจูงใจจากภาครัฐ ซึ่งเหตุการณ์ที่ชาวจีนเคยซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ในปี 2560-2561 นั้นคาดว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่อาจจะมีชาวต่างชาติประเทศอื่นที่สนใจเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น

       ภาพรวมสต๊อกคงค้างในตลาดยังมี แม้จะมีการชะลอเปิดตัวโครงการออกไป รวมถึงมีการจัดโปรโมชั่นระบายสต็อกมากขึ้น แต่หน่วยเหลือขายสะสมในปี 2566 นี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวราบที่มีการเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยว บ้านแฝดเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา แต่มีอัตราดูดซับทาวน์เฮาส์ยังต่ำ เนื่องจากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าตลาด แต่ยังคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2567 อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสฟื้นตัวดีในต่างจังหวัด ทำให้มีการเปิดตัวโครงการใหม่ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดเมืองรองที่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อุดรธานี อุบลราชธานี  นครราชสีมา และในพื้นที่เขตการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) สิ่งที่ต้องติดตามซึ่งจะมีผลต่อมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือ การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการโอนมากขึ้น ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกันกับช่วงโควิด ผังเมืองใหม่ที่จะส่งผลต่อการขยายพื้นที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบริเวณรถไฟฟ้าในสายใหม่ๆ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ อาจจะเป็นปัจจัยส่งผลทำให้ตลาดกลับมาคึกคักได้มากขึ้นนั่นเอง

วิเคราะห์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุดเหมาะสมกับระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย

       ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา คือการดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค แต่ปัจจุบันสิ่งที่พยายามสื่อสารมาโดยตลอด คือ ถึงเวลาที่การดำเนินนโยบายการเงินต้องเปลี่ยนไปสู่การมีเสถียรภาพ ซึ่งการมีเสถียรภาพไม่ใช่ดูเพียงปัจจัยระยะสั้น แต่ต้องเหมาะสมกับภาพระยะยาว เหมาะสมกับระดับศักยภาพระยะยาวกับเศรษฐกิจหรือไม่ด้วย โดยระดับที่เหมาะสมนี้ คือการที่ดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับ Neutral rate ที่เหมาะสมกับศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ควบคู่ไปกับการพิจารณาจาก 3 ประเด็นหลักคือ

  • อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับศักยภาพ โดยจีดีพีเติบโตระดับ 3-4%
  • ขณะที่เงินเฟ้อต้องอยู่ในกรอบอย่างยั่งยืน และอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
  • การที่ไม่สร้างความไม่สมดุลด้านการเงิน 

       อีกทั้งการที่ดอกเบี้ยไทยต่ำมานาน 0.5% ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและพฤติกรรม  การแสวงหาผลตอบแทนหรือ Search for Yield การดำเนินนโยบายการเงินจึงยึดหลักมองไปข้างหน้า ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ท่ามกลางการปรับจีดีพีของเศรษฐกิจไทยลดลง และเงินเฟ้อที่ลดลง เนื่องจาก การดำเนินนโยบายการเงินต้องดูแลเรื่องระยะยาวด้วย ไม่ได้ดูเฉพาะปัจจัยระยะสั้นๆ และการดำเนินนโยบายการเงินต้องคำนึงถึงสถานการณ์ข้างหน้า ไม่ใช่เพื่อต้องการสกัด เพราะผลของการดำเนินนโยบายการเงิน กว่าจะเห็นต้องใช้เวลา ดังนั้นสิ่งที่พยายามสื่อสารคือ การทำนโยบายการเงินต้องพิจารณาผลของอนาคต มากกว่าข้อมูลที่เกิดในปัจจุบัน ดังนั้นหากการดำเนินนโยบายการเงินโดยยึดเฉพาะข้อมูล การดำเนินนโยบายก็จะมีความไม่เสถียรและผันผวน ทำให้ต้องยึดการมองอนาคตมากกว่า เพราะวันนี้โลกผันผวนมากอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการให้เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดความผันผวนขึ้นไปอีก ไม่ต้องการทำให้นโยบายเพิ่มความไม่แน่นอน เพิ่มความผันผวนให้ตลาดไปอีก

       อย่างไรก็ตามสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยมาสู่ 2.50% เป็นอัตราที่เหมาะสม เพราะเป็นการพักดอกเบี้ยไประยะหนึ่ง เป็นจุดที่เหมาะกับระดับ Neutral rate แล้ว แต่หากแนวโน้มข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากการคาดการณ์ไว้ทั้งจีดีพี เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% เป็นอัตราที่คิดว่าไม่มากเกินไป เป็นอัตราที่เป็นจุดกลางๆ ที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ราว 0.5% และหากดูอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าไทยต่ำสุดในภูมิภาหากเทียบกับมาเลเซียที่ 3% เกาหลี 3.5% อินโดนีเซีย 5% และฟิลลิปปินส์ที่ 6%

       ในขณะเดียวกันหากพิจารณาจาก 3ปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน ด้าน  เศรษฐกิจ วันนี้ ธปท. เชื่อว่ายังมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องเป็นสิ่งที่มั่นใจจากการบริโภคที่เติบโตได้ดีรวมกับมาตรการรัฐที่จะเข้ามา ซึ่งจะเป็นส่วนหนุนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่องได้ ดังนั้นความกังวลต่อประเด็นเศรษฐกิจจึงมีไม่มาก ขณะที่ปัจจัยเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าปีหน้าจะอยู่ที่ 1.6% ถือว่ายังอยู่ในกรอบ แต่ถามว่าเป็นกังวลปัจจัยเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากแอลนีโญ่ที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีผลต่อตระกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังมาจากราคาน้ำมันที่ปัจจุบันปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นโอกาสที่เงินเฟ้อจากด้านต้นทุนจึงมีค่อนข้างสูง รวมไปถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะมีผลที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นนอกจากนี้การดำเนินนโยบายการเงินไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่ประเด็นที่กังวลคือ ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ แม้จะมีการนำมารวมอยู่ในประมาณการณ์อยู่แล้ว แต่หากปัจจัยข้างต้นเกิดขึ้นพร้อมๆกัน โอกาสที่จะเห็นผลกระทบที่ส่งผ่านมาสู่เงินเฟ้อจะสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ได้นั่นเอง

 

กลุ่มประชาสัมพันธ์

ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 31 ตุลาคม 2566

128 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย