การลงทุนโดยไม่ต้องเสียภาษี*
คนมีเงินต้องคิดหนักจะลงทุนอะไรก็ยากลำบาก คิดจะนำเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อยแถมยังต้องมาถูกหักภาษีดอกเบี้ยอีก 15% ครั้นจะหันไปลงทุนหุ้นดีๆ รอกินเก็บเกี่ยวเงินปันผล ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกหักภาษีเงินปันผลในอัตรา 10% คิดไปคิดมาผลตอบแทนหลังจากหักเงินภาษีดอกเบี้ยและเงินเฟ้อแล้วแทบจะไม่เหลืออะไร ดังนั้นมีบ้างไหมที่การลงทุนอะไรบ้างที่ไม่ต้องเสียภาษี และไม่ใช่จะมาแนะนำวิธีการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่จะต้องเสียภาษี เพื่อนำเงินภาษีไปพัฒนาประเทศชาติ แต่ก็ต้องมีบ้างในการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษี เพราะการที่รัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษ ยกเว้นภาษีการลงทุนบางประเภท เพื่อที่จะจูงใจให้ออมเงิน หรือส่งเสริมให้มีการลงทุน และก็ไม่ต้องเขินอายที่จะเลือกการลงทุนที่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะมันเป็นสิทธิที่จะสามารถลงทุนได้ ทั้งนี้มาดูตัวอย่าง 9 รูปแบบการลงทุนโดยไม่เสียภาษีแบบถูกต้องตามกฎหมายดังนี้
1. เงินฝากเผื่อเรียกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับการยกเว้นภาษี
2. การลงทุนซื้อสลากออมสินหรือสลาก ธ.ก.ส. ก็ได้สิทธิพิเศษไม่ถูกหักภาษีดอกเบี้ย ณ ที่จ่าย
3. เงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์ซึ่งการฝากเงินกับสหกรณ์ได้อันดับแรกจะต้องสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ก่อน และจะต้องจ่ายเงินสมทบเป็นทุนเรือนหุ้นเท่าๆ กันทุกเดือน ซึ่งผลตอบแทนที่จะได้สหกรณ์มี 2 รูปแบบ คือ เงินปันผลและดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ก็ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเช่นกัน เงินฝากออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ส่วนไม่เกิน 2 หมื่นบาท กรณีที่นำเงินไปฝากกับธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยเงินฝากส่วนที่ไม่เกิน 2 หมื่นบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากส่วนที่เกิน 2 หมื่นบาท ก็ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปตามระเบียบ
4. เงินฝากประจำปลอดภาษี เป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ออมเงินระยะยาว โดยมีเงื่อนไขจะต้องเป็นเงินฝากประจำรายเดือนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือน โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดต้องฝากไม่เกิน 6 แสนบาท ข้อระวังหากไม่สามารถจะฝากเงินติดต่อกันจนครบ 24 เดือน หรือไถ่ถอนเงินฝากก่อนกำหนดก็ไม่ได้รับดอกเบี้ยพิเศษตามที่ธนาคารกำหนด รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์การหักดอกเบี้ยภาษี 15%
5. เงินฝากประจำสำหรับผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป รวมไม่เกิน 3 หมื่นบาท ตลอดปีภาษี ซึ่งก็มีธนาคารหลายแห่งออกผลิตภัณฑ์การลงทุนเงินฝากเพื่อผู้สูงวัย เช่น เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษผู้สูงวัยของธนาคารออมสิน กำหนดระยะเวลาเดือนที่ 1-6 จ่ายดอกเบี้ย 1% ต่อปี เดือนที่ 7-12 ดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี เดือนที่ 13-18 จ่ายดอกเบี้ย 2% ต่อปี เดือนที่ 19-24 ร้อยละ 3% ต่อปี เฉลี่ยร้อยละ 1.875 ต่อปี (เทียบเท่าเงินฝากประจำ 2.206% ต่อปี)
6. กองทุนรวมที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เนื่องจากเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามข้อ 2 (32) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 พ.ศ. 2509 ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
7. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) คือ กองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนไปใช้พัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐหรือเอกชน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ทางพิเศษ หรือทางสัมปทาน ท่าอากาศยานหรือสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม รถไฟฟ้า รถใต้ดิน เป็นต้น โดยกองทุนรวมที่จะจัดตั้งนั้นจะต้องระบุเฉพาะเจาะจงเลยว่าจะนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทใด เช่น กองทุน BTSGIF หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท ทั้งนี้จะได้ยกเว้นภาษีเงินปันผลให้แก่บุคคลธรรมดาเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน
8. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นอกจากสามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% กำไรจากการขายกองทุน LTF ที่ถือจนครบ 7 ปีปฏิทินจะได้รับยกเว้นภาษี แต่เงินปันผลที่จ่ายจากกองทุน LTF ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ส่วนคนที่ซื้อกองทุน RMF กำไรจากการขายกองทุน RMF ที่ถือไว้จนครบเงื่อนไขจะได้รับยกเว้นภาษีเช่นกัน
9. การลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) กรณีเป็นบุคคลธรรมดาก็ได้รับการยกเว้นภาษีกำไร รวมถึงเงินปันผล ถ้าลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผล แต่ถ้าไม่ใช่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
โดยสรุปที่กล่าวมาในข้างต้นนี่ก็พอเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งนักลงทุนสามารถนำไปพิจารณาดูให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในการลงทุนที่รับได้ แถมยังได้รับประโยชน์จากผลตอบแทนจากการลงทุนโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร