เกี่ยวกับเรา
BAM ประกอบธุรกิจด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยมีส่วนช่วยเหลือลูกหนี้และแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เพิ่มเติม
ทรัพย์
อื่นๆ
ติดต่อเรา
0-2630-0700
0-2266-3377
99 ถนนสุรศักดิ์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
หน้าหลัก > บทความการเงิน > วิเคราะห์การลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐานกับหุ้นปันผล*
นักลงทุนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เริ่มเข้ามาศึกษาการลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) ในช่วงปีแรกๆ อาจจะคิดว่าเป็นการลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐานของกิจการเป็นหลักมีแนวคิดในการถือหุ้นระยะยาวตราบเท่าที่กิจการยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และราคาหุ้นยังไม่แพงเกินมูลค่าที่แท้จริง โดยระหว่างทางที่ถือครองหุ้นดีเหล่านั้น ก็มักจะมี “เงินปันผล” จ่ายให้ตลอดทุกปี ด้วยอัตราเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ดีกว่าดอกเบี้ยฝากธนาคาร บางตัวจ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง แถมราคาหุ้นยังไม่ค่อยลงอีก ทำให้หลายๆ ท่านสรุปเองว่าการลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐานหรือแบบเน้นคุณค่านั้น แท้จริงแล้วก็คือการลงทุนใน “หุ้นปันผลดี” ซึ่งข้อสรุปนี้ในหลายๆกรณีก็มีส่วนถูก แต่ถ้าจะสรุปเลยว่า “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า = การลงทุนหุ้นปันผลดี” แบบทุกกรณีอันนี้คงต้องตอบว่า “ไม่ถูกต้อง”
ใจความสำคัญของการลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานแบบเน้นคุณค่า คือ Good Stock and Good Price ซื้อหุ้นดี ที่ราคาถูก ด้วย ในส่วนของหุ้นดี (Good Stock) ดูจากปัจจัยเชิงคุณภาพของหุ้น เช่น อยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโต มีแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการของบริษัทที่เพิ่มขึ้น และมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่ยั่งยืน อันนี้การดูหุ้นปันผลก็ไม่ต่างกัน เพราะที่มาของเงินปันผลคือกำไร ที่มาของกำไรคือความสามารถในการสร้างรายได้และบริหารต้นทุนของกิจการ และที่มาของความสามารถที่ดีของกิจการคือปัจจัยเชิงคุณภาพที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง และในส่วนของราคาดี (Good Price) หลักการคือ ต้องลงทุนกับหุ้นที่ “Undervalue” หรือ หุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง คำถามคือ แล้วจะหามูลค่าที่แท้จริงยังไง เกี่ยวข้องกับเงินปันผลยังไง
ต้องบอกว่าวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงนี่เป็นเรื่องใหญ่ ใช้เวลาศึกษาค่อนข้างนาน ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการประเมิน มีหลายวิธี ทั้งถูกต้องตามทฤษฎีแต่ยากในทางปฏิบัติ และแบบง่ายแต่อาจไม่ตรงตามทฤษฎีการเงิน ที่สำคัญคือไม่มีวิธีวัดมูลค่าหุ้นวิธีใดให้ผลที่ถูกต้องแบบ 100% แต่ละวิธีต้องใช้สมมติฐาน และให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ซึ่งวิธีการวัดมูลค่าหุ้นที่ใช้คือ
1. Reproduction Cost of Asset
2. Market Comparison เช่น P/E, P/BV, P/S, EV/EBITDA ฯลฯ
3. Discounted Cashflow
โดยวิธีที่ถูกต้องตามทฤษฎีทางการเงินคือวิธีที่ 3 ด้วยการคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cashflow) ซึ่งสามารถใช้กระแสเงินสดอิสระ (Free Cashflow) มาคิดลด หรือสามารถใช้เงินปันผลมาคิดลดก็ได้เช่นกัน ซึ่งเรียกว่า Dividend discount model นั่นหมายความว่าเงินปันผลก็สามารถกำหนดมูลค่าหุ้นได้เช่นเดียวกัน และเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้วัดมูลค่าหุ้นปันผล รวมทั้งกองรีทที่จ่ายปันผลในหลายกรณีด้วย นี่คือหนึ่งในทางเลือกของสายการลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยมุ่งเน้นที่การลงทุนหุ้นปันผลดีนั่นเอง
แต่ยังมีสายการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มุ่งเน้นด้านอื่นๆ เช่น เน้นลงทุนในหุ้น Growth ก็ต้องใช้วิธีเลือกหุ้นที่จะมีการเติบโตของกำไร (กระแสเงินสดอิสระ) ในอนาคต หรือเน้นลงทุนในหุ้น Value ก็ต้องเน้นหุ้นที่ราคา undervalue ชัดเจน มูลค่ากิจการคุ้มค่าต่อราคาบนกระดานวันนี้เลย
นักลงทุนที่จับจ้องเงินปันผล โดยเน้นปันผลที่ดีดูจากข้อมูล Dividend Yield ในเว็บตลาดหลักทรัพย์อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะนั่นเป็นเงินปันผลในอดีตย้อนหลัง 1 ปี เทียบกับราคาหุ้นปัจจุบัน อนาคตเงินปันผลอาจจะดีแบบเดิมหรือไม่ก็ได้ หรือปีที่ผ่านมาหุ้นตัวนี้อาจจะมีกำไรพิเศษแบบครั้งเดียว เช่น ขายสินทรัพย์ออกไป หรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือกำไรจาก Inventory Gain ก็เป็นได้
สิ่งสุดท้ายที่นักลงทุนต้องระวัง คือหุ้นปันผลที่ลงทุนอยู่ หากกิจการเข้าสู่ขาลงชัดเจน ห้ามถือหุ้นดังกล่าวไว้ เพราะกิจการที่เป็นขาลง กำไรจะลดลง ราคาหุ้นก็จะลง แถมเงินปันผลก็จะลดลงได้รุนแรงเช่นกัน ยิ่งถ้ากิจการขาดทุนเมื่อไหร่ ก็อาจจะงดจ่ายเงินปันผลไปเลยก็ได้ ดังนั้นคุณภาพกิจการและความสามารถในการทำกำไรในอนาคต คือสิ่งสำคัญที่สุดในการจ่ายเงินปันผลที่แท้จริงนั่นเอง