เกี่ยวกับเรา
BAM ประกอบธุรกิจด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยมีส่วนช่วยเหลือลูกหนี้และแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เพิ่มเติม
ทรัพย์
อื่นๆ
ติดต่อเรา
0-2630-0700
0-2266-3377
99 ถนนสุรศักดิ์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
หน้าหลัก > บทความการเงิน > วิเคราะห์การบริหารเงินใช้หลังเกษียณ ด้วยงบกระแสเงินสด*
ไม่ว่าจะหยุดทำงานตามอายุเกษียณที่ 60 ปี หรือหยุดทำงานจากการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) เช่น อายุ 55 ปี จำเป็นต้องวางแผนการใช้เงินหลังเกษียณอย่างดียิ่ง นี่คือสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ของวัยเกษียณ ที่อาจจะสำคัญไม่แพ้เรื่องสุขภาพและความรักในครอบครัว เงินก้อนสุดท้ายมักจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ได้จากการทำงานและเก็บออมในหลากหลายรูปแบบ เช่น กองทุนสำรองลี้ยงชีพ กบข. กองทุนประหยัดภาษี LTF RMF ที่ครบอายุ เงินฝากสหกรณ์หน่วยงาน ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ครบอายุ ฯลฯ
การบริหารจัดการเงินก้อนสุดท้ายนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องมั่นใจว่ามันจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายแบบไม่ลดคุณภาพชีวิต ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปีที่จะไม่ได้ทำงาน ดังนั้นการบริหารจัดการเงิน ควบคุมดูแลแบบใกล้ชิดจึงเป็นเรื่องจำเป็น เหมือนเราเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน(Chief Finance Officer) ของชีวิตเราเอง สิ่งที่พบเจอบ่อยๆ คือคนวัยเกษียณมักจะใช้ “งบกำไรขาดทุน” ในการติดตามข้อมูลการเงิน ซึ่งก็คือ มองจากเงินก้อนที่ได้จัดสรรงบรายเดือนไว้ใช้จ่ายจำนวนนึง แล้วนำมาใช้จ่ายรายเดือนต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้าประปาโทรศัพท์อินเตอร์เน็ต ค่าเดินทาง ค่าแชมพูสบู่ยาสีฟัน ค่าท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่างๆ ฯลฯ ถ้ารวมสุทธิแล้วยังอยู่ในงบรายเดือน ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
แต่ในความเป็นจริงคิดว่าควรใช้หลักการของ “งบกระแสเงินสด” ซึ่งมีหลายมิติกว่า ในการติดตามข้อมูลการเงินมากกว่า สมมติว่าตัวเราคือบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง งบกระแสเงินสดจะมี 3 ส่วนสำคัญที่จะมอง คือ
1. กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน (CFO : Cashflow From Operating Activities) ในกรณีที่ใช้ติดตามข้อมูลการเงินวัยเกษียณ CFO คือเงินสดสุทธิที่คงเหลือจากงบประมาณใช้จ่ายประจำปี (รวมถึงรายรับอื่นๆ ที่อาจจะมีเงินสดไหลเข้ามา เช่น เงินปันผล ค่าเช่า) หักด้วย ค่าใช้จ่ายประจำวันทั้งหมดที่ใช้จ่ายออกไป เช่น ตั้งใจใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท งบปี คือ 360,000 บาท หักออกด้วยค่าใช้จ่ายประจำวันต่างๆ ตลอดทั้งปี สมมติเป็นเงิน 300,000 บาท ดังนั้น CFO ยังเป็นบวก (คงเหลือ = +60,000 บาท) ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่ารอดแล้ว อันที่จริงต้องดูที่ข้อ 2 ต่อ
2. กระแสเงินสดสุทธิจากการลงทุน (CFI : Cashflow From Investing Activities) กรณีงบบริษัท ส่วนนี้คือกระแสเงินสดที่แสดงการใช้เงินสดออกไปลงทุน เช่น ซื้อเครื่องจักร ขยายสาขา ขยายโครงข่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอายุใช้งานระยะยาวเพื่อให้เกิดดอกผลจากการลงทุน ในกรณีที่ใช้ติดตามข้อมูลการเงินวัยเกษียณ CFI คือเงินสดลงทุนซื้อของที่ใช้ในระยะยาว(เช่น เกิน 3 ปี) เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รถยนต์ ฯลฯ หรือในบางกรณีอาจจะต้องซ่อมบ้านครั้งใหญ่ หรือซื้อคอนโดใหม่ หรืออาจจะเป็นค่ารักษาสุขภาพก้อนใหญ่ก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้นับเป็นรายจ่ายลงทุน ซึ่งนับเป็นเงินสดไหลออกทั้งสิ้น
3. กระแสเงินสดสุทธิจากการจัดหาเงิน (CFF : Cashflow From Financing Activities) ในกรณีงบบริษัท ถ้าเป็นลบ แสดงว่าใช้เงินสดจ่ายปันผลหรือชำระหนี้ (จ่ายเงินออก) แต่ถ้าส่วนนี้เป็นบวกแปลว่ามีการกู้เงินหรือเรียกเพิ่มทุนเข้ามา (รับเงินเข้า) ในกรณีที่ใช้ติดตามข้อมูลการเงินวัยเกษียณ CFF เงินสดจ่ายออก คือ การให้อั่งเปาลูกหลานประจำปี (เหมือนเงินปันผล) แต่ถ้ากรณีฉุกเฉินใดๆ หากก่อหนี้หยิบยืมเงิน ก็จะเป็นเงินสดไหลเข้าจากการกู้เงินก่อหนี้
กรณีที่ 1 : มีเงินใช้หลังเกษียณอย่างแท้จริง
ถ้ากระแสเงินสดในข้อ 1) CFO เป็นบวก 2) CFI ติดลบ 3) CFF ติดลบ แปลว่าชีวิตเกษียณสามารถใช้จ่ายเงินได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้รายปี สามารถซื้อของใช้ที่เป็นงบลงทุนได้ อีกทั้งยังสามารถให้อั่งเปาลูกหลานทุกปี ทำได้แบบนี้คือสุดยอด
กรณีที่ 2 : มีเงินใช้หลังเกษียณ แต่อาจจะต้องระมัดระวังการซื้อของชิ้นใหญ่
ถ้ากระแสเงินสดในข้อ 1) CFO เป็นบวก 2) CFI ติดลบ 3) CFF เป็น 0 แปลว่าชีวิตเกษียณสามารถใช้จ่ายเงินได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้รายปี แต่ไม่สามารถซื้อของใช้ที่เป็นงบลงทุนก้อนใหญ่ๆ ตามใจได้ทุกอย่าง ต้องบริหารเงินลงทุนข้อ 2) CFI ให้ดี ก็จะผ่านได้ ข้อ 3) CFF ถึงแม้ไม่ได้ให้อั่งเปาลูกหลาน (อันที่จริงควรเป็นลูกๆ ที่นำเงินอั่งเปามาให้ผู้สูงวัย) แต่ถือว่ามีเงินใช้เป็นของตนเอง ไม่ต้องกู้ยืมใคร
กรณีที่ 3 : มีเงินใช้ไม่พอหลังเกษียณ แม้แต่รายเดือนยังติดลบ
ถ้ากระแสเงินสดในข้อ 1) CFO ติดลบ และ 2) CFI ติดลบ อีก นั่นแปลว่าชีวิตเกษียณมีเงินออมไม่พอใช้ ต้องลดคุณภาพชีวิตการใช้จ่ายลงเพื่อให้ 1) CFO และ 2) CFI ติดลบน้อยที่สุด ซึ่งอาจจะต้องอาศัยเงินสดไหลเข้าจากข้อ 3) CFF ด้วยการพึ่งพาลูกหลานในการดำรงชีพ หรือแม้กระทั่งหยิบยืมก่อหนี้ ซึ่งอันตรายและจะไม่สบายใจ