หน้าหลัก > บทความการเงิน > สรุป Risk Premium คืออะไร ทำไมนักลงทุนจึงควรรู้*

สรุป Risk Premium คืออะไร ทำไมนักลงทุนจึงควรรู้*

         ความเสี่ยง ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ โอกาสที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ รวมไปถึงโอกาสในการสูญเสียเงินต้นจากการลงทุนนั้นๆ แต่ถ้าในเชิงวิชาการเงิน ความเสี่ยงก็อาจวัดได้จากความผันผวนของผลตอบแทน ยิ่งผันผวนมาก ในวิชาการเงินจะถือว่ามีความเสี่ยงสูง แน่นอนว่าเมื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยง ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนที่คาดไว้ รวมถึงโอกาสในการสูญเสียเงินต้น ดังนั้นเมื่อตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว นักลงทุนจึงต้องการผลตอบแทนเพิ่มเติม ที่เรียกว่า “ส่วนชดเชยความเสี่ยง” หรือ “Risk Premium” แล้ว Risk Premium คืออะไร

         ลองนึกภาพกันก่อนว่า ถ้านำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินฝากธนาคาร เสี่ยงต่ำมาก ต้องการผลตอบแทน 1%, หุ้นกู้บริษัทเอกชน เสี่ยงปานกลาง ต้องการผลตอบแทน 5% และหุ้นสามัญ เสี่ยงสูง ต้องการผลตอบแทน 10% ซึ่งจะพบว่าแต่ละสินทรัพย์นั้นมีความคาดหวังของอัตราผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไปสินทรัพย์ยิ่งเสี่ยงมาก ก็ยิ่งคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากตามไปด้วย อีกตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยให้หลายคนเห็นภาพมากขึ้น คือ ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ก็สามารถใช้คำว่า Risk Premium มาอธิบายความแตกต่างนี้ได้เช่นกัน

         คำถามที่หลายคนมักคาใจกันมานานคือ ทำไมอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถึงต่ำมาก เช่น อยู่ในช่วงระหว่าง 0.5% - 1.5% แต่ทำไมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นจึงสูงมาก เช่น 5.0% - 8.0% เรื่องนี้อธิบายตามหลัก Risk Premium ก็คือเมื่อธนาคารรับเงินฝากไป ธนาคารก็จะมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับคนที่เอาเงินไปฝากตามตกลงกัน แต่ประเด็นคือ ธนาคารไม่ได้เอาเงินฝากไปเก็บไว้เฉยๆ แต่ธนาคารเอาเงินไปปล่อยสินเชื่อต่อ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ย หรือไม่ได้เงินต้นคืนจากผู้ขอสินเชื่อ เช่น ถ้าผู้กู้เป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงด้านการเงิน มีหนี้สูง หรือแม้แต่คนธรรมดาที่ไปขอกู้และมีเครดิตไม่ดีในการผ่อนชำระเงิน มีรายได้ไม่แน่นอน หรือไม่มีหลักประกัน ความเสี่ยงตรงนี้ เป็นส่วนที่ธนาคารต้องแบกรับ ทำให้ธนาคารต้องคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับสูงขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งความแตกต่างนั้น ส่วนหนึ่งก็สะท้อนคำว่า Risk Premium หรือ ส่วนชดเชยความเสี่ยงนั่นเอง

         อีกกรณีหนึ่งที่อธิบายเรื่องนี้ได้คือ การจัดอันดับเครดิตเรตติงของหุ้นกู้ โดยบริษัทที่ทำการจัดอันดับเครดิตเรตติงจะประเมินระดับเรตติงจากลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัท ผลประกอบการ หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น มีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้มากแค่ไหน จึงมีการจัดอันดับความเสี่ยงของหุ้นกู้ ซึ่งแบ่งออกมาเป็น Investment Grade หรือกลุ่มที่มีเครดิตดีน่าลงทุน ที่มีเรตติงตั้งแต่ BBB ขึ้นไปถึง AAA และ Non-Investment Grade หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้สูง มีเรตติงต่ำกว่า BBB ลงมา โดยในกลุ่ม Non-Investment Grade บริษัทที่ออกหุ้นกู้ ก็จะต้องเสนอดอกเบี้ยสูงๆ เพื่อจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนบนความเสี่ยงที่สูงนั้น แตกต่างกับกลุ่ม Investment Grade ที่เครดิตดีอยู่แล้ว ผู้ลงทุนจึงรู้สึกปลอดภัยในการมาลงทุน และไม่ต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงมาก ผู้ออกจึงไม่จำเป็นต้องเสนอดอกเบี้ยสูงๆ นั่นเอง

         ส่วนคนที่ลงทุนในตลาดหุ้น ก็จะมีผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยงที่เรียกว่า “Equity Risk Premium” ซึ่ง Equity Risk Premium ถ้าอธิบายตามหลักการก็เกิดมาจากอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในตลาดหุ้นหักลบด้วยผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว สินทรัพย์ที่มักถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง ก็คือ พันธบัตรรัฐบาล ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น ถ้าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในตลาดหุ้นเท่ากับ 10% อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเท่ากับ 2% ในกรณีนี้ Equity Risk Premium จะเท่ากับ 8% และด้วยความที่ตัวแปรทั้ง 2 ตัวนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้น Equity Risk Premium จะมีการเปลี่ยนไปตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

         โดยปกติแล้วเมื่อตลาดอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจ การเกิดสงคราม ก็จะทำให้ Equity Risk Premium มีการปรับตัวสูงขึ้น เพราะนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงใน Equity Risk Premium ยังสามารถบอกการเคลื่อนย้ายเงินทุนของ     นักลงทุนระหว่างตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรได้อีกด้วย โดยปกติแล้วถ้ามีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรเข้าตลาดหุ้น Equity Risk Premium จะลดลง และกลับกันเมื่อมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตลาดพันธบัตร Equity Risk Premium จะเพิ่มขึ้น

         มาถึงตรงนี้น่าจะพอได้ความรู้เกี่ยวกับ Risk Premium หรือผลตอบแทนที่ชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ มาพอสมควร ซึ่งการที่รู้และเข้าใจข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก่อนที่จะลงทุน ก็น่าจะช่วยให้ เข้าใจกลไก ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโลกการลงทุนได้ดีมากขึ้น ดังนั้นต่อไปนี้ก่อนที่ใครจะชวนลงทุนอะไร ที่มันดูเสี่ยง อาจต้องถามตัวเองว่าต้องการ Risk Premium ที่เท่าไร เพื่อจะได้ให้มีผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ลงทุนไปนั่นเอง

_______________________________________________

บทความการเงิน

วันที่ 19 สิงหาคม 2565

528 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย