กับดักการบริหารเงินตามแต่ละช่วงอายุ*
เรื่องเงินเรื่องทองเป็นของสำคัญไม่เข้าใครออกใคร ต้องบริหารจัดการให้ดีไม่งั้นจะแก่ก่อนรวย ไม่ใช่รวยก่อนแก่อย่างที่ตั้งใจไว้ เรื่องแบบนี้ละเอียดสักนิด ใส่ใจสักหน่อย เรียนรู้ให้เข้าใจ มีวินัย ก็พอจะบริหารจัดการให้การเงินการทองลงตัวและงอกเงยได้ไม่ลำบากทั้งวันนี้และวันหน้า จะดีกว่าไหมถ้าสามารถเรียนรู้หลุมพรางของการบริหารเงินในแต่ละวัย จะดีกว่าไหมถ้าสามารถเรียนรู้ข้อผิดพลาดของการบริหารเงินในแต่ละวัย เรียนรู้ประสบการณ์จากคนอื่นเพื่อไม่ให้เกิดกับตัวเอง ทุกช่วงของวัยจะพบปัญหาเรื่องเงินไม่เหมือนกัน มาดูกับดักเหล่านี้กันเลย
1.วัยหนุ่มสาว 20-30 ปี
หากไร้เป้าหมายที่ชัดเจนของชีวิต ไร้เป้าหมายในการทำงาน แล้วเป้าหมายเรื่องการเงินจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไม่มีเป้าหมายทางการเงิน ก็ไม่มีการเก็บเงิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความผิดพลาด โดยใช้เงินไปมากกว่าที่หามาได้ เพราะส่วนใหญ่เลือกทำตามใจตัวเอง เลือกหาความสุขระยะสั้นมากกว่ามองยาวไปในอนาคต เช่น การเกษียณคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว รอไปก่อนได้
2.วัยสร้างครอบครัว 31-40 ปี
ไม่แบ่งบริหารเงินตามเป้าหมายของการเงิน เมื่อไม่มีการแบ่งเงินตามเป้าหมาย สิ่งที่ตามมาก็คือ รวมสินทรัพย์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเพื่อการใช้จ่ายปัจจุบัน พอร์ตการลงทุน ปัญหาที่ตามมามักจะเกิดขึ้นตอนทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งยุ่งยากต่อการเก็บข้อมูลมาก ยากที่จะรู้จุดอ่อนและจุดแข็ง ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพจัดการเงินในแต่ละเป้าหมาย เช่น เงินการศึกษาบุตรอีก 5 ปีข้างหน้าไปรวมกับเงินฝาก แทนที่จะแยกบัญชีออกมาโดยนำเงินไปลงทุนความเสี่ยงระดับกลางเพื่อเพิ่มค่าของเงินให้เทียบเงินเฟ้อค่าเล่าเรียน แถมยังล่าช้าในการวางแผนประกันชีวิต ลืมเรื่องการวางแผนประกัน หรือเลื่อนการทำประกันไป เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่หากยืดระยะเวลาออกไป เมื่อถึงวันที่จำเป็นจริงๆ จะเจอปัญหาแน่นอน นั่นก็คือ เบี้ยประกันแพงขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น อาจจะทำไม่ได้เพราะโรคเรื้อรัง หรือถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น ป่วยเป็นมะเร็ง หรือเสียชีวิต จะกระทบกับเงินของครอบครัว
3.สำหรับวัย 41-50 ปี
ให้ความสำคัญกับเป้าหมายอื่นมากกว่าเกษียณ อายุในวัยนี้จะเริ่มสะสมและใช้เงินกับสิ่งที่ตัวเองรักอย่างจริงๆ จังๆ เช่น หมดไปกับการเที่ยวรอบโลก ซื้อรถคันใหม่ ยิ่งถ้ามีลูกก็จะทุ่มเทกับลูกมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการศึกษา แต่กลับลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือการวางแผนเกษียณ เพราะถ้าไม่วางแผนตอนนี้ก็จะช้าไป ให้เริ่มวางแผนเกษียณให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นจะไม่ทัน
4.สำหรับวัยเกษียณอายุ 50 ปีขึ้นไป
กลัวการลงทุนเพื่อการเกษียณมากเกินไป แน่นอนที่จะต้องเริ่มวางแผนเกษียณอย่างจริงจัง แต่ที่ ส่วนใหญ่มักคิดผิดๆ เหมือนกันตามมานั้นก็คือเหลือเวลาเก็บเงินอีกไม่มาก ดังนั้นไม่ควรลงทุนอะไรที่เสี่ยงเกินไป ส่วนใหญ่ก็เก็บเงินของตัวเองไว้ในเงินฝาก ไม่ก็ตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนต่ำ ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกเป็น 10 ปีกว่าจะเกษียณ หรือไม่กระทั่งอายุ 60 ปีแล้ว ก็ควรจะลงทุน เนื่องจากว่าตอนนี้คนอายุไขยาวนานขึ้นถึง 80 ปี ดังนั้นควรจะลงทุนเพื่อจะได้มีเงินใช้อีก 10-20 ปีข้างหน้า
โดยสรุปจะเห็นได้ว่ากับดักของการบริหารเงินในแต่ละช่วงอายุจะมีอะไรบ้างถึงแม้ว่าหากจะทำไม่ได้ตามแผนก็ควรวางโครงการไว้ จะได้รู้ว่าทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ อาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าที่จะไม่มีการวางแผนเลย ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคั่งทางการเงินและสามารถช่วยให้คุณมีเงินเพียงพอที่จะใช้ได้อย่างเป็นสุขในช่วงวัยเกษียณ
_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ section บริหารการเงิน
กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร