Main Page > Economic Articles > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนสิงหาคม 2566)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนสิงหาคม 2566)

        ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2566 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันมีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดราคาค่อนข้างทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะการค้าโลกเมีแนวโน้มลดลง จึงทำให้ในเดือนนี้การผลิตสินค้ามีการหดตัวลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีทิศทางที่เป็นบวก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก ทั้งนี้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าลดลงแต่เงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ เริ่มมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการหดตัวลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาบ้าง ทำให้ในเดือนนี้จึงมีการขยายตัวได้ แต่ก็มีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน / รายละเอียด

มีนาคม 66

เมษายน 66

พฤษภาคม 66

มิถุนายน 66

ดัชนีราคาผู้บริโภค

107.76

107.96

107.19

107.83

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

105.89

82.72

95.39

93.05

อัตราการใช้กำลังการผลิต

66.49

53.55

60.25

59.12

ดุลการค้า

4,304.78

80.49

54.51

2,017.61

ดุลบัญชีเดินสะพัด

4,413.28

-581.31

-2,766.07

1,448.81

เงินฝาก

17,258.19

17,201.97

17,169.33

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

18,635.75

18,404.26

18,736.54

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท

                 อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ    ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559

                 ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

วิเคราะห์ปัจจัยสำคัญกดดันตลาดอสังหาฯ ไทย*

ที่มาของภาพ : https://moneyandbanking.co.th/wp-content/uploads/2023/07/person-is-holding-model-house-with-house-top-310x280.jpg

        ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการหดตัวลงของจำนวนประชากรที่จะเริ่มต้นในปี 2030 ตามการการคาดการณ์ของ UN อย่างไรก็ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดหัวเมืองใหญ่จะยังขยายตัวต่อได้ตามแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีมากขึ้น ทำให้ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ไทยจะแตกต่างกันระหว่างเมืองใหญ่และเมืองรองมากขึ้น โดยการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่เท่านั้น

        จำนวนประชากรและความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ ถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้ทั้งความต้องการซื้อทั้งตลาดที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์อย่างศูนย์การค้า สำนักงาน และคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเติบโตของจำนวนประชากรไทยที่มีแนวโน้มซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือช่วงอายุระหว่าง 25-54 ปี ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2015 และเริ่มมีจำนวนลดลง ในขณะที่จำนวนประชากรไทยในภาพรวมจะเริ่มลดลงในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่รุนแรงมากขึ้น

        นอกจากปัจจัยด้านประชากร ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษปี 2010 โดยไม่ได้เกิดจากเฉพาะโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป แต่ยังมาจากอีก 4 ปัจจัยภายในประเทศที่เริ่มเปลี่ยนทิศทางและกดดันการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์คือ

  1. การขยายพื้นที่เขตเมืองในต่างจังหวัด หรือ Urbanization ชะลอตัวตามภาคอุตสาหกรรมและบริการที่อาจไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่ากับในอดีตตามภาวะ Deglobalization
  2. กำลังซื้อคนไทยหดตัว จากรายได้ที่เติบโตช้าลงตามภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ราคาบ้านยังคงเพิ่มขึ้นเร็ว
  3. อัตราดอกเบี้ยที่อาจค้างสูงนาน จะเป็นปัจจัยที่ลดกำลังซื้อและเพิ่มภาระหนี้ให้กลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัย

        ระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมากแล้วในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรสินเชื่อ (Deleveraging) ส่งผลให้การกู้ยืมอาจมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นและความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มเติมของผู้กู้ทำได้น้อยลง

        ถึงแม้ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยรวมจะชะลอตัวลง แต่อสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ยังไปต่อได้ โดยมีแรงสนับสนุนที่แตกต่างจากภาพรวมของประเทศไทย คือ

  1. การย้ายเข้าเมืองใหญ่ สะท้อนจากจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลขยายตัวที่ 5.6% ต่อปี หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 5 เท่า
  2. การขยายตัวของเส้นทางรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่
  3. กำลังซื้อจากต่างชาติที่มีบทบาทมากขึ้นต่อการเติบโตของยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในไทย และคาดว่าในอนาคตจะมีโอกาสเพิ่มเติมจากภาครัฐที่มีแนวโน้มผ่อนคลายและเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศได้มากขึ้น เพื่อชดเชยจำนวนประชากรในประเทศที่ลดลง

        อย่างไรก็ตาม KKP Research ยังประเมินว่าการพึ่งพากำลังซื้อจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง อาจมีความเสี่ยงในระยะยาวจาก

  1. ความมั่งคั่งของคนจีนมีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจจีนที่ไม่อาจเติบโตได้เร็วเท่ากับในอดีต
  2. ไทยอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกในเอเชีย หากเน้นแข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก
  3. Capital Control จากรัฐบาลจีนเพื่อสกัดการไหลออกของเงินทุนจีน

        ในขณะเดียวกันภาคอสังหาริมทรัพย์ในเมืองรองและเขตชนบทอาจซบเซา มีความเสี่ยงราคาบ้านปรับตัวลดลง ความต้องการที่อยู่อาศัยในจังหวัดเล็กหดตัวลงตามจำนวนครัวเรือนที่ย้ายไปยังเมืองใหญ่มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนครัวเรือนในภาคอีสานและภาคเหนือที่เริ่มหดตัวที่ 1.2% ต่อปี โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นตัวเลขปริมาณอุปทานของบ้านมากกว่าจำนวนครัวเรือน ซึ่งสวนทางกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จำนวนบ้านในตลาดยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด ซึ่งประเมินว่าปัญหา "บ้านล้นตลาด" ในต่างจังหวัดจะยิ่งถูกกดดันมากขึ้นจากความต้องการที่หดตัวลงต่อเนื่องตามจำนวนครัวเรือนที่ลดลง ประกอบกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มลดลงในภาพรวม ส่งผลให้มีแนวโน้มที่ในอนาคตจะมีจำนวนบ้านเหลือมากขึ้นและเป็นแรงกดดันให้ราคาบ้านต้องปรับลดลงได้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและจีนที่ประสบปัญหาราคาบ้านแถบชนบทหดตัว

        อย่างไรก็ตามถึงแม้บทบาทของภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีจำกัด แต่การปล่อยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบไปยังภาคส่วนอื่นในเศรษฐกิจได้ ทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงผ่านกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงินผ่านกลุ่มธนาคารและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อคุณภาพสินทรัพย์ เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด และภาคอสังหาริมทรัพย์มีการระดมทุนผ่านตลาดสารหนี้ที่มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง หากเกิดการชะลอตัวรุนแรงอาจส่งผลต่อเนื่องสู่ตลาดการเงินได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

วิเคราะห์แนวทางการให้สินเชื่อเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาว

ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ EIC ได้ทำการวิเคราะห์พบว่าในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะพิจารณา Risk-Adjusted Return on Capital หรือ RAROC ซึ่งเปรียบเสมือนกำไรต่อหน่วยของการดำเนินธุรกิจ โดย RAROC คำนวณจากรายได้ดอกเบี้ยหักต้นทุน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ต้นทุนจากการระดมทุน 2) ต้นทุนจากการดำเนินการ และ 3) ต้นทุนจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่ผู้กู้จะผิดนัดชำระหนี้ หากมองจากมุมของธนาคารพาณิชย์จะพบว่ามีเหตุผล 2 ประการที่ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs น้อยกว่า เมื่อเทียบกับสินเชื่อครัวเรือน ดังนี้

  1. ต้นทุนจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs สูงกว่าต้นทุนของสินเชื่อครัวเรือน เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ทราบข้อมูลฐานะและประวัติทางการเงิน จึง ไม่ทราบความเสี่ยงของธุรกิจ SMEs ในทางตรงข้าม แม้ธนาคารพาณิชย์จะไม่ทราบความเสี่ยงของผู้กู้สินเชื่อครัวเรือนบางราย แต่สินเชื่อครัวเรือนเป็นสินเชื่อรายย่อย โอกาสเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อผู้กู้รายย่อยพร้อมกันจึงมีจำกัด ส่งผลให้โอกาสที่สินเชื่อครัวเรือนจะผิดนัดชำระหนี้พร้อมกันมีน้อยกว่า (Risk Pooling) ดังนั้น RAROC ของสินเชื่อครัวเรือนจึงสูงกว่าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีแรงจูงใจที่จะให้สินเชื่อครัวเรือนมากกว่าสินเชื่อธุรกิจ SMEs
  2. ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มที่จะตั้งสำรองไว้ในระดับสูง เพื่อรักษามาตรฐานในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนึ่งเพราะบทเรียนจากวิกฤตการเงินไทยในปี 2540 ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยกลัวความเสี่ยงและพยายามรักษามาตรฐานการตั้งสำรองไว้สูง

        จากเหตุผลข้างต้นเราจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อธุรกิจมากขึ้น หาก เพิ่มประสิทธิภาพของกลไกตลาดสินเชื่อ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความต้องการสินเชื่อ ศักยภาพและความเสี่ยงของธุรกิจ หรือเรียกว่าข้อมูลเครดิต ซึ่งไทยสามารถเพิ่มการไหลเวียนของข้อมูลเครดิตได้หลายวิธี เช่น การเพิ่มขอบเขตและความลึกของข้อมูลเครดิตที่เครดิตบูโร การแลกเปลี่ยนข้อมูลเครดิตระหว่างสถาบันการเงิน การจัดให้มีตัวกลางที่ช่วยธุรกิจจัดทำข้อมูลเครดิต และสื่อสารแลกเปลี่ยนกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเพิ่มโอกาสที่ธุรกิจจะเข้าถึงสินเชื่อ นอกจากนี้ยังสามารถแก้ปัญหาไม่ทราบความเสี่ยงทางอ้อม โดยการขยายขอบเขตของสินทรัพย์ค้ำประกันให้สอดคล้องกับสินทรัพย์ที่ธุรกิจ SMEs มีในช่วงที่เริ่มลงทุน เช่น เอกสารคำสั่งซื้อ หรือสินค้าคงคลัง

       ระบบธนาคารพาณิชย์จัดสรรเงินทุนโดยชั่งน้ำหนักระหว่างการให้สินเชื่อเพื่อสร้างโอกาสให้คนในระบบเศรษฐกิจ และการบริหารความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงอย่างเต็มกำลังและยั่งยืน โดยปกติการพูดถึงการบริหารความเสี่ยง นั่นคือการรักษาเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้เป็นปกติเป็นหลัก แต่อาจลืมต้นทุนค่าเสียโอกาสของการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จึงต้องกักเก็บทรัพยากรทางการเงินไว้กับตัว ไม่สามารถปล่อยออกไปเป็นสินเชื่อธุรกิจที่ส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

       ต้นทุนค่าเสียโอกาสของการบริหารความเสี่ยงมีมูลค่ามากแค่ไหน สมมติว่าระบบธนาคารพาณิชย์ตั้ง สำรองเพิ่มขึ้น 1% ของยอดคงค้างสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 66 จะต้องสำรองคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท หากระบบธนาคารพาณิชย์สามารถนำทรัพยากรส่วนนี้มาปล่อยกู้ให้ธุรกิจลงทุน ข้อมูลจาก Penn World Table ระบุว่าการลงทุนของไทยจะให้ผลตอบแทนประมาณ 8.4% นั่นคือเศรษฐกิจไทยเสียโอกาสคิดเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมูลค่าราว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 0.1% ของ GDP ไทยในปี 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ

       ดังนั้นระบบธนาคารพาณิชย์ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสและความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมที่สุด นั่นคือระดับที่สามารถจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงอย่างเต็มกำลังและยั่งยืนแล้วหรือยัง ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ควรตั้งสำรองน้อยเกินไปจนสร้างความเปราะบาง แต่ก็ไม่ควรมากเกินไปจนทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรทางการเงินบกพร่อง เมื่อมองไปข้างหน้า การเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกตลาดสินเชื่อจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินความเสี่ยงได้คมชัดยิ่งขึ้น จึงสามารถตั้งสำรองลดลงได้โดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ เมื่อนั้นธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยทรัพยากรทางการเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการลงทุนได้มากขึ้น

       โดยสรุปการเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกตลาดสินเชื่อและการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระดับที่ธนาคาร พาณิชย์สามารถสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มกำลังและยั่งยืน จะช่วยปรับสัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือนให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย เปรียบเสมือนร่างกายที่ได้อาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการเติบโตในระยะยาวได้อย่างสมดุลและยั่งยืนนั่นเอง

 

กลุ่มประชาสัมพันธ์

ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์

Economic Articles

30 AUG 2023

169 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย