Main Page > Financial Articles > การลงทุนที่ดีที่สุด สำหรับมนุษย์เงินเดือน
การลงทุนที่ดีที่สุด สำหรับมนุษย์เงินเดือน*
สำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” ที่ไม่มีความสามารถพิเศษในการลงทุนและคิดว่าไม่มีความถนัดในการที่จะเรียน รู้เทคนิคการลงทุนที่จะทำให้สามารถลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ ได้ ต่อไปนี้คือกลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนระยะยาว“ดีที่สุด” จะเป็นการลงทุน“เพื่อการเกษียณ” ความเสี่ยง“ขาดเงิน” มีน้อยมาก สิ่งที่ต้องทำมีหลักการใหญ่ๆ 3 ข้อ เป็นเรื่องทำได้ไม่ยากแต่ต้องอาศัยความมีวินัยสูง ดังนี้
1. ต้องมี “เงินลงทุนเริ่มต้น” หรือเงินที่ได้จากแหล่งอื่นนอกเหนือจากเงินจากการลงทุน เช่น จากเงินเดือน เงินพ่อแม่ให้หรือเงินมรดก เป็นต้น และสามารถเพิ่มเงินให้มากขึ้นได้ โดยบริโภคน้อยลงและเก็บออมเอามาลงทุนมากขึ้น
2. ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิเคราะห์และลงทุนอย่างถูกต้อง ตามทฤษฎีและข้อมูลการลงทุนที่มีการเก็บสถิติมายาวนานนั้น บอกว่าหุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุดในบรรดาการลงทุนหลักทั้งหลายในระยะยาว ดังนั้นผลตอบแทนที่จะได้มากนั้นคงต้องลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ขณะที่การฝากเงินให้ผลตอบแทนต่ำสุด ถ้าเงินส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีเงินฝาก ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่น้อย ส่วนพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นให้ผลตอบแทนกลางๆ ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ถ้าเน้นซื้อหุ้นลงทุนเป็นรายตัว อาจทำให้ได้ผลตอบแทนที่มากแต่ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้ อย่างไรก็ตามสามารถที่จะลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวมที่จะให้ผลตอบแทนมากพอ สมควร โดยความเสี่ยงจะเสียหายมีน้อยในระยะยาว ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่เชี่ยวชาญการเลือกหุ้น การลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีจึงเป็นทางเลือกที่ดีมาก
3. ระยะเวลาลงทุน ยิ่งลงทุนยาวนานเท่าไรก็จะทำให้มีผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น คนที่อายุน้อยและแน่วแน่ในการลงทุน ไม่ออกจากตลาดไม่ว่าในสถานการณ์อะไร จึงทำให้มีเงินทุนอยู่เสมอ เช่นเดียวกันคนที่มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีก็เป็นคนสามารถหาเงินทุนได้ มากกว่าคนที่อายุสั้นกว่า
คนที่มีคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อและใช้สร้างโอกาสก็จะทำให้มีผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูง อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ “กินเงินเดือน” และอายุยังไม่มากนั้น หากมีการวางแผนการลงทุนที่ดี และด้วยการ “เสียสละ” การบริโภคในปัจจุบันพอประมาณแต่อยู่ในระดับที่ไม่น่าจะเดือดร้อนนัก จะสามารถที่จะลงทุนจนมีเงินเพียงพอที่จะใช้ในยามเกษียณได้อย่างสบาย โดยความเสี่ยงที่จะทำไม่ได้มีน้อยมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
สมมุติว่าอายุ 30 ปี มีงานประจำที่มั่นคง มีเงินเดือนตามควรแก่อัตภาพเช่น เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท และยังไม่เคยลงทุนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ข้อเสนอก็คือต้องเริ่มเก็บออมเงินและลงทุนโดยการหักออกจากเงินรายได้ 15% ทุกครั้งที่ได้รับเงิน ซึ่งก็คือเดือนละ 7,500 บาท แล้วนำเงินนั้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนี SET50 คือลงทุนหุ้นใหญ่ที่สุด 50 ตัว โดยไม่มีการเลือกหุ้น ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกเดือน ถ้าเงินเดือนสูงขึ้น เม็ดเงิน 15% ก็สูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อได้รับเงินพิเศษเช่น โบนัส จะต้องหักเงิน 15% ก่อนเพื่อเอาไปลงทุนในหุ้น การลงทุนในหุ้นทั้งหมดนั้นอาจดูว่า “เสี่ยง” แต่การที่ทยอยลงทุนไปเรื่อยๆ เป็นเวลาถึง 30 ปี ความเสี่ยงจะหายไปมาก เพราะซื้อหุ้นเฉลี่ยกันไปทั้งช่วงที่หุ้นถูกและแพง โอกาสเงินออมจะเสียหายมีน้อยมาก แต่มีโอกาสสูงที่จะได้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละประมาณ 10% ตามสถิติที่เป็นมาในอดีต ถ้าทำแบบนี้ผลที่จะได้รับหลังเกษียณ 60 ปีคือสามารถใช้เงินได้เดือนละเท่าเดิม เท่ากับช่วงที่ทำงานอยู่ โดยที่ไม่ต้องทำงานต่อไปอีก 30 ปี เช่น ถ้าได้เงินเดือนช่วงแรกที่อายุ 30 ปี เป็นเงิน 50,000 บาท ในวันที่เกษียณเดือนแรกก็สามารถใช้เงินได้ เดือนละ 50,000 บาท เช่นกัน และถ้าในช่วงอายุ 40 ปี มีรายได้เดือนละ 100,000 บาท และกันเงิน 15% ซึ่งเท่ากับ 15,000 บาทไว้ลงทุน ซึ่งจะทำให้ในช่วงที่มีอายุ 70 ปี จะสามารถใช้เงินได้เดือนละ 100,000 บาท เช่นกัน
มองอีกด้านหนึ่งคือเงินเพียง 15% ถ้าลงทุนในหุ้นวันนี้ จะโตขึ้นเป็น 100% หลังหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว ภายในเวลา 30 ปี ดังนั้นเงินเพียง 15% ของทุกเดือนที่ลงทุนไปวันนี้ อีก 30 ปีจะกลับมาเลี้ยงตัวเองได้เต็มจำนวน ถ้าลงทุนตั้งแต่อายุ 25 ปี โอกาสเกษียณอย่างสบายจะสูง ถ้าลงทุนหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว เช่น เริ่มลงทุนเมื่ออายุ 40 ปี ถ้าจะให้สามารถใช้เงินได้เท่าเดิมหลังเกษียณ อาจต้องกันเงินไว้มากกว่า 15% ของเงินเดือนเพื่อจะลงทุน ภาระก็จะหนักขึ้น หรือถ้ายังรักษาระดับที่ 15% ในวันที่เกษียณก็มีเวลาลงทุนแค่ 20 ปี ซึ่งก็จะทำให้เงินที่จะได้นั้นไม่ถึง 100% ซึ่งก็แปลว่าในวันเกษียณอาจจะต้องลดระดับความเป็นอยู่ลง
คนอายุ 30 ปี ที่เริ่มกันเงินถึง 15% ของเงินเดือนเพื่อลงทุน แต่เน้นไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนผสมมีหุ้นน้อย ผลตอบแทนที่ได้จะต่ำ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถใช้เงินได้เท่าเดิมหลังเกษียณ สำหรับกรณีนี้น่าจะเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสม ในระยะสั้นๆ นั้น ความรู้สึกมั่นคงและ “ไม่เสี่ยง” จากการลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากนั้น ไม่คุ้มกับการเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนดีในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้น ว่าที่จริงในระยะยาวตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หุ้นโดยรวมนั้นมีความเสี่ยงน้อยมาก โอกาสที่หุ้นจะให้ผลตอบแทนรวมต่ำกว่าตราสารหนี้หรือเงินฝากนั้นคิดว่าน่าจะ อยู่แค่ในช่วง 5-10 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วหุ้นก็จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า ดังนั้นอย่ากลัวที่จะลงทุนหุ้นเต็มที่ถ้าจะลงทุนในระยะยาวมาก
สุดท้ายที่อยากจะเพิ่มเติมสำหรับคนที่ต้องเสียภาษีรายได้สูงนั้น การลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ในอัตราที่สูงได้ถึง 15% ของรายได้นั้น ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่กล่าวถึงมาทั้งหมด แต่ยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลด้วย ดังนั้นคิดว่านี่คือสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรทำ