Main Page > Articles > วิเคราะห์เทคนิคการขายกองทุนรวม

วิเคราะห์เทคนิคการขายกองทุนรวม

วิเคราะห์เทคนิคการขายกองทุนรวม

ที่มาของภาพ : https://finvestfox.com/wp-content/uploads/2020/09/mutual-fund.jpg

        เมื่อซื้อกองทุนรวมไปแล้ว อาจมีคำถามตามมาว่าเมื่อไหร่ควรขายกองทุน บางคนบอกว่าต้องการขายเพราะผลการดำเนินงานแย่ บางคนบอกว่าแม้ผลการดำเนินงานดีแต่ถือมานานหลายปีแล้ว ก็อยากขายเพื่อเปลี่ยนไปซื้อกองทุนอื่นบ้าง หรือไปซื้อกองทุนที่กำลังเป็นที่นิยม ถึงแม้จะมีความต้องการขายด้วยหลายเหตุผล แต่ก่อนตัดสินใจขายก็มีข้อควรให้พิจารณา สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนหรือกำลังลงทุนในกองทุนรวม อาจเกิดคำถามขึ้นว่า “เมื่อไหร่ควรขายกองทุนรวมที่ถืออยู่” ซึ่งคำถามนี้ไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์ที่แน่นอน อยู่ที่ความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ที่สำคัญไม่มีใครคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำว่ากองทุนรวมที่ลงทุนอยู่จะมีมูลค่าสูงขึ้นหรือลดลง ซึ่งนักลงทุนที่เจอสถานการณ์เดียวกัน อาจตัดสินใจแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก่อนตัดสินใจขายควรพิจารณาใน 3 ประเด็น ดังนี้

         “ขาย” เมื่อกำไรถึงเป้าหมาย
        การวางแผนการลงทุน นักลงทุนควรกำหนดเป้าหมายว่าลงทุนเพื่ออะไร หมายความว่า หากกองทุนรวมนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายแล้ว ก็สามารถพิจารณาขายได้ เช่น ตั้งเป้าหมายขายกองทุนรวมเมื่อมีกำไร 5% โดยอาจขายทั้งหมดหรือขายเฉพาะส่วนที่เป็นกำไรเพื่อเก็บเงินที่เป็นต้นลงทุนไว้หากมองว่ายังมีแนวโน้มการเติบโตต่อไป อย่างไรก็ตามเป้าหมายผลตอบแทนควรสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนหรือระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม หากกองทุนรวมนั้นมีนโยบายลงทุนในหุ้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูง มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง ก็สามารถตั้งเป้าหมายผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น

        “ขาย” เพื่อปรับพอร์ตลงทุน
        การลงทุนที่ดีควรจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระจายความเสี่ยง ด้วยการจัดสัดส่วนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หากรับความเสี่ยงได้สูงก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นในสัดส่วนที่สูงได้ แต่หากไม่ต้องการรับความเสี่ยงมากนักก็ลดสัดส่วนหุ้นลง ทั้งนี้เมื่อลงทุนไประยะหนึ่งแล้ว สัดส่วนการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลง นักลงทุนควรทำการปรับสัดส่วน (Rebalancing) เช่น ราคาหุ้นปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนหุ้นเพิ่มขึ้นก็สามารถขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นแล้วนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งระยะเวลาในการปรับสัดส่วนดังกล่าวอาจทำทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญและกระทบต่อพอร์ตลงทุน

        “ขาย” เมื่อกองทุนทำผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีชี้วัด
        เป็นเรื่องปกติที่ระหว่างทางการลงทุนอาจมีปัจจัยที่เข้ามากระทบและส่งผลให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ซึ่งนักลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนกองทุนรวมที่ลงทุนอยู่ โดยเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) ของกองทุนรวมนั้นๆ รวมถึงเปรียบเทียบกับกองทุนรวมอื่นๆ ที่อยู่ในประเภทเดียวกัน โดยดูข้อมูลผลการดำเนินงานได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet)

        ​​​​​​กองทุนรวมส่วนใหญ่จะกำหนดดัชนีชี้วัดที่ใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน โดยขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ กำหนดดัชนีชี้วัดเป็นดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET TRI) ซึ่งดูว่ากองทุนรวมที่ลงทุนนั้น มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด ทั้งนี้ควรพิจารณาผลการดำเนินงานของกองทุนรวมหลายๆ ช่วงเวลาประกอบกันตัวอย่างเช่น กองทุนรวมหุ้นไทยระยะเวลาย้อนหลัง 1 ปี ดัชนีชี้วัดมีผลการดำเนินงาน 8.00% แต่กองทุนรวมสร้างผลการดำเนินงานได้ 10.00% แสดงว่ากองทุนรวมมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าดัชนีชี้วัด ขณะที่ระยะเวลาย้อนหลัง 3 เดือน ดัชนีชี้วัดมีผลการดำเนินงาน 4.00% ส่วนกองทุนรวมสร้างผลการดำเนินงานได้ 3.00% กรณีดังกล่าวอาจไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการลงทุน เนื่องจากการลงทุนในหุ้น ความผันผวนสามารถเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น ในทางกลับกัน หากกองทุนรวมที่ลงทุนอยู่ทำผลการดำเนินงานได้ต่ำกว่าดัชนีชี้วัดอย่างต่อเนื่องหรือเกือบทุกช่วงเวลา อาจพิจารณาขายกองทุนรวมที่ลงทุนอยู่เพื่อไปลงทุนกองทุนรวมใหม่ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า

         เมื่อนักลงทุนขายกองทุนแล้ว นอกจากจะได้รับเงินที่ขายเข้าบัญชีเงินฝากที่ผูกไว้กับกองทุนรวมแล้ว ยังมีทางเลือกที่จะสับเปลี่ยนกองทุนรวม (Switching) ไปพักไว้ที่กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นหรือกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งวิธีนี้ มีข้อดีคือ ผลตอบแทนจากการพักเงินดังกล่าวมักสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ นอกจากนี้การสับเปลี่ยนกองทุนรวมสามารถใช้ในกรณีที่ต้องการปรับเปลี่ยนกองทุนรวมแต่ยังติดเงื่อนไขการลงทุน สำหรับกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เช่น กองทุน SSF ที่ต้องถือครอง 10 ปีเต็มนับตั้งแต่วันที่ลงทุน สมมติว่าปัจจุบันลงทุนในกองทุนรวม SSF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย เมื่อระยะเวลาผ่านไป ราคากองทุนรวมปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนต้องการขายทำกำไรแต่ติดเงื่อนไขการลงทุนก็สามารถสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวม SSF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นหรือกองทุนรวม SSF ที่ลงทุนในตลาดเงินได้ ทั้งนี้การสับเปลี่ยนกองทุนรวม SSF และ RMF ก่อนครบกำหนดเงื่อนไขการลงทุนเพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไข ต้องสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวมประเภทเดียวกัน คือ กองทุนรวม SSF ต้องสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวม SSF เช่นเดียวกับกองทุนรวม RMF ต้องสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวม RMF

        แม้ว่าการลงทุนระยะยาวจะช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี แต่เพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามแผน ระหว่างทางต้องติดตามข้อมูลข่าวสารและผลตอบแทนของกองทุนรวมที่ลงทุนว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพื่อที่จะได้ให้การลงทุนเป็นไปตามการคาดหมายที่วางเอาไว้นั่นเอง

*แหล่งที่มาของข้อมูล : ชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

Articles

19 AUG 2022

1757 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย